กองทุน RMF ปี 2565 ที่น่าลงทุน
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กองทุน RMF ปี 2565 ที่น่าลงทุน

icon-access-time Posted On 26 สิงหาคม 2565
by Krungsri The COACH
โลกเราทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราไม่สามารถขาดเงินได้ ตราบใดที่เรายังคงมีลมหายใจ เรายังต้องมีการใช้เงินอยู่ตลอด แต่สิ่งที่โหดร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราทุกคนไม่สามารถทำงานหาเงินไปได้ตลอดชีวิต เมื่อถึงช่วงอายุที่เราจะต้องเกษียณไม่ว่าจะเพราะไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงานแล้ว หรือบางคนไม่ต้องการทำงานเพื่อหาเงินอีกแล้ว

ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้จึงจะต้องมีเงินส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้เมื่อถึงเวลาที่เราเกษียณ ซึ่งเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้ในระบบภาษี มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ รัฐบาลจึงมีการกำหนดให้มีกองทุนเพื่อการเกษียณที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีขึ้นมา จึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้ ที่จะกล่าวถึงกองทุนเพื่อวัยเกษียณที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือกองทุน RMF กันครับ

กองทุน RMF คืออะไร

RMF ย่อมาจากคำว่า “Retirement Mutual Fund” เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ คล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี
 
สิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกองทุน RMF

การลงทุนกองทุน RMF เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นมีข้อกำหนดดังต่อไปนี้
  1. ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
  2. ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ กองทุนSSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเบี้ยประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  3. ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  4. ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี)

เมื่อเราทราบแล้วว่ากองทุน RMF คืออะไร และมีข้อกำหนดอะไรบ้างแล้ว ก่อนที่นักลงทุนจะลงทุนในกองทุน RMF นั้น ควรพิจารณาเงื่อนไขในการขายคืนกองทุน ควบคู่ไปกับการลงทุนในกองทุน SSF ด้วย เพราะว่าการลงทุนในกองทุน RMF และ SSF นั้นมีข้อกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการถือหน่วยลงทุน ซึ่งทำให้ RMF และ SSF มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบกันอย่างชัดเจน เพราะกองทุน SSF จะต้องถือกองทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี ในขณะที่กองทุน RMF จะต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากการซื้อครั้งแรก และต้องมีอายุเกิน 55 ปี ณ วันที่ขายด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
  1. หากนักลงทุนอายุไม่เกิน 45 ปี ควรจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน SSF ก่อน และจึงจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน RMF เป็นลำดับถัดมา เพราะว่าระยะเวลาที่ถูกบังคับให้ถือครองกองทุน RMF จะมากกว่า 10 ปี ในขณะที่ระยะเวลาที่ถูกบังคับให้ถือครองของ SSF จะเท่ากับ 10 ปี เท่านั้น
  2. หากนักลงทุนอายุเกิน 45 ปี ควรจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน RMF ก่อน และจึงจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน SSF เป็นลำดับถัดมา เพราะว่าระยะเวลาที่ถูกบังคับให้ถือครอง RMF จะน้อยกว่า 10 ปี (ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่ซื้อครั้งแรก) ในขณะที่ระยะเวลาที่ถูกบังคับให้ถือครองของ SSF จะเท่ากับ 10 ปี คงที่

หลังจากพิจารณาอายุของนักลงทุนแล้วจึงมาคำนวนรายได้สุทธิ ฐานภาษี และจำนวนเงินที่จะใช้ในยามเกษียณ เพื่อให้ทราบยอดเงินที่จะต้องจัดสรรไว้ลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ตามหลักการที่กล่าวไปข้างต้น

จากนั้นนักลงทุนจึงมาเลือกกองทุน RMF ที่นักลงทุนสนใจ ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีผลตอบแทน และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

สำหรับธนาคารกรุงศรีมีกองทุน RMF ที่น่าสนใจให้นักลงทุนเลือกลงทุน โดยเราจะเรียงลำดับจากกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงกันนะครับ
 
การเลือกกองทุนเพื่อลงทุน
 

กองทุน RMF ความเสี่ยงต่ำ

สำหรับกองทุน RMF ที่มีความเสี่ยงต่ำนั้นสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนจะอยู่ในลักษณะเป็นตราสารหนี้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ผลตอบแทนสำหรับตราสารหนี้นั้นก็คือดอกเบี้ยที่ได้รับจากการถือตราสารหนี้ของกองทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการความเสี่ยงที่ต่ำ และต้องการผลประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก โดยมีกองทุนที่แนะนำคือ กรุงศรีตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFCASHRMF) ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต่ำ เนื่องจากกองทุนมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 70% ของ NAV และส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน สถาบันการเงิน หรือเงินฝากธนาคาร โดยกองทุนนี้ไม่มีการจ่ายปันผล ดังนั้นนักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะเสียภาษีในส่วนของเงินปันผลเพิ่มเติมอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม KFCASHRMF
 

กองทุน RMF ที่ลงทุนหุ้นไทย

สำหรับกองทุน RMF ที่มีความเสี่ยงสูงปานกลางจะเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศ และเป็นหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการที่ดี และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยมีกองทุนที่แนะนำคือ กรุงศรี SET100 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFS100RMF) โดยกองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี SET 100 เปรียบเสมือนกับการที่นักลงทุนลงทุนในหุ้น 100 ตัว เช่นเดียวกับดัชนี SET 100 ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปของส่วนต่างของราคา (Capital Gain) และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม KFS100RMF
 
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ
 

กองทุน RMF ที่ลงทุนต่างประเทศ

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้น และต้องการการลงทุนที่กระจายโอกาสไปยังตลาดต่างประเทศ และยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ทางธนาคารกรุงศรีก็ยังมีกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศที่น่าสนใจคือกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGBRANRMF) กองทุนจะนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ กองทุน Morgan Stanley Investment Funds - Global Brands Fund (Class Z) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ซึ่งเป็นบริษัทที่ประสบผลสำเร็จ หรือมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น มีเครื่องหมายการค้าเป็นที่รู้จักทั่วโลก เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าที่เราทราบกันดี อาทิเช่น Microsoft, Philip Morris, SAP, Visa เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม KFGBRANRMF
 

กองทุน RMF ที่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทางธนาคารกรุงศรีก็ยังมีกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจคือ กองทุนเปิดพรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัมเพื่อการเลี้ยงชีพ (PRINCIPAL iPROPRMF) โดยกองทุนนี้จะเป็นการลงทุนในกอง REiT ที่มีชื่อเสียงในประเทศ เช่น CPN RETAIL GROWTH LEASEHOLD REIT (CPNREIT), Frasers Property Thailand Industrial Freehold & Leasehold REIT (FTREIT) และ WHA Premium Growth Real Estate Investment Trust (WHART) ซึ่งมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ศูนย์การค้า โรงงาน และคลังสินค้า รวมถึงมีการลงทุนในกอง REiT ต่างประเทศ เช่น CapitaLand Integrated Commercial Trust (CICT) และ Ascendas Reit (AREIT) ที่มีการกระจายการลงทุนไปยังอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์ เยอรมัน และออสเตรเลีย ดังนั้นนักลงทุนจะไม่พลาดโอกาสในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย และยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม PRINCIPAL iPROPRMF

นอกจากนี้ยังมีกองทุนอีกหลากหลายกองทุนที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการได้ หากนักลงทุนต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

สุดท้ายนี้ขอย้ำเตือนให้นักลงทุนทุกท่านพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องอายุ คำนวณรายได้สุทธิ และฐานภาษีให้เรียบร้อยก่อนการลงทุนในกองทุน RMF ทุกครั้ง เพื่อให้นักลงทุนทุกท่านไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนนะครับ

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
  • RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • KFGBRANRMF, PRINCIPAL iPROPRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • PRINCIPAL iPROPRMF ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จึงอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
 
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา